ต้องอ่าน รวม ราชาศัพท์ ที่ใช้ผิดมากช่วงเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2549
หางาน,สมัครงาน,งาน,ต้องอ่าน รวม ราชาศัพท์ ที่ใช้ผิดมากช่วงเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ถือว่าเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม จะโดยไม่รู้หรือรู้แบบผิดๆ มา เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2558 ทุกหน่วยงานได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีผ่านการขึ้นคัตเอาต์ หรือเว็บไซต์ แต่พบว่ายังมีราชาศัพท์ที่ใช้ผิดกันมาก และจากการสังเกตพบว่ามีคำหลักๆ ซึ่งไม่ควรละเลย ต้องระวังตรวจสอบเสมอเพื่อใช้ให้ถูกต้อง และสมพระเกียรติ ไทยรัฐออนไลน์รวมมาให้ความรู้กัน


1.การเขียน "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ไม่ต้องเติมไปยาลน้อย (ฯ)

ดังที่ควรทราบว่าการเขียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องมี ฯ (ไปยาลน้อย) ต่อท้าย เพราะหากมี นั่นแสดงว่าเรากำลังจะหมายถึง เจตนาเขียนพระราชนามโดยย่อ เพื่อระบุเจาะจงว่า เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ไหน เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้ชี้แจงว่า คำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" คือ พระราชอิสริยยศ/ฐานันดรศักดิ์ พระมหากษัตริย์ ฉะนั้น ในเมื่อทราบกันดีว่า ปัจจุบัน เรามีพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และมีพระราชนามใด ตลอดจนหมายถึงพระองค์ใด ฉะนั้น จึงเขียนเพียง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เท่านั้น ไม่ต้องมี ฯ ตามหลัง

 

2. "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ" ใช้ให้ถูก

เป็นคำลงท้ายที่ใช้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เท่านั้น ขอให้พึงสังเกตทุกครั้งที่เขียนคำนี้ หลัง "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" จะต้องวรรค ทุกครั้ง แล้วจึงตามด้วย "ขอเดชะ" เพราะเป็นคำสองคำมาใช้รวมกัน หลายสื่อและหลายหน่วยงานต่างๆ รวมถึงหลายท่านๆ มักจะเขียนติดกัน ซึ่ง ผิด กล่าวคือ ต้องพูดหรือเขียนว่า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ซึ่งแปลเข้าใจง่ายๆ ว่า "ขอเดชะ" แปลว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย

"ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" แปลว่า คุ้มหัวเรา...รวมความได้ว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย (เจ้านาย-เป็นคำโบราณเมื่ออ้างถึงพระบรมวงศานุวงศ์) คุ้มหัวเราให้มีความสุขความเจริญ

(สำหรับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้คำลงท้ายว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" แต่เพียงนี้ ไม่ต้องมี ขอเดชะ ตามหลัง)

3."ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา"

หลายครั้งที่เราเห็นหน่วยงานใหญ่บางแห่ง ขึ้นคัตเอาต์ขนาดใหญ่เขียน "ฑีฆา" (ใช้ ฑ-นางมณโฑ) เขียนผิด ที่ถูกต้องเป็น ท-ทหาร (ทีฆ ทีฆา = ยาว) และต้องเขียนโดยเคาะวรรคแบบนี้ "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา" จึงจะถูกตามราชบัณฑิตยสถานกำหนด และหากจะใช้คำว่า "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา" แล้ว ก็ไม่ต้องใช้ "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ" เพราะสองคำนี้่ ความหมายเหมือนกันแปลว่า ขอให้มีอายุยืนยาวนาน

4.คำว่า "อายุ" สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้ "พระชนมพรรษา" ไม่ใช่ "พระชนมายุ"

คำว่า พระชนมพรรษา (พฺระ-ชน-มะ- พัน-สา) แปลว่า ขวบปีที่เกิด อายุ. เป็นคำราชาศัพท์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ. ใช้ว่า มีพระชนมพรรษา หรือ ทรงเจริญพระชนมพรรษา เช่น ในปีพุทธศักราช 2558 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา

รวมไปถึงคำถวายพระพรชัยมงคล สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้คำว่า "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน" ไม่ใช่ "มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน" (คำว่า "พระชนมายุ" ณ ปัจจุบัน ใช้แทนคำว่า "อายุ" แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)

และ หลังพรรษา ไม่ต้องมีคำว่า "ครบรอบ" เช่น มีพระชนมพรรษาครบรอบ....พรรษา" เพราะคำว่า "ครบรอบ" จะใช้ต่อเมื่อครบรอบนักษัตรเท่านั้น (หารด้วย 12 ลงตัว) การใช้ที่ถูกเช่น "ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ" หรือ "ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 84 พรรษา" หรือครบรอบ 60 ปี ทรงครองสิริราชสมบัติ แบบนี้ ใช้ได้ 
 

5.ต้องใช้ "เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา..." ไม่ใช่ "เนื่องในวโรกาส..." มีคนจำนวนมากกล่าวถึงการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาว่า "เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา" ซึ่งใช้ผิด เพราะคำว่า "วโรกาส" มีธรรมเนียมการใช้เฉพาะเมื่อ "ขอโอกาส" จากพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ กล่าวคือ หากจะขอโอกาสพระมหากษัตริย์ ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส

เมื่อ ขอโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระราชวโรกาส

และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระบรมราชวโรกาสเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระราชวโรกาส พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ให้โอกาส ใช้คำว่า ประทานพระวโรกาส ดังนั้น ในกรณีอื่นๆ นอกจากการ "ขอโอกาส" และการ "ให้โอกาส" แล้ว จะไม่ใช้คำว่า "วโรกาส" แต่ให้ใช้ว่า "โอกาส" 

 

6.ควรใช้ "ถวายพระพร" หรือ "ถวายชัยมงคล" หรือ "ถวายพระพรชัยมงคล"

มีผู้รู้บอกว่า "ถวายพระพร" เป็นคำที่พระสงฆ์ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ฉะนั้น สำหรับเราทั้งหลายซึ่งเป็นสามัญชนโดยทั่วไป ท่านจึงแนะนำให้ใช้ว่า "ถวายชัยมงคล" แต่คนทั่วไปก็ชอบที่จะพูดและเขียนว่า "ถวายพระพร" ซึ่งผิด ปัจจุบัน อนุโลมให้ใช้เพื่อกล่าวโดยรวม หากว่าการนั้น มีผู้แสดงความจงรักภักดีและร่วมลงนาม มีทั้งพระและสามัญชน จึงให้ใช้คำว่า "ถวายพระพรชัยมงคล" ส่วนคำว่า "ถวายพระพร" ให้ใช้ได้แต่กับการลงนามถวายพระพรเท่านั้น

7.ระหว่าง "ราชัน" กับ "ราชันย์" ต้องใช้คำไหน

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องเขียนว่า "ราชัน" "องค์ราชัน" "เทิดไท้องค์ราชัน" ทั้งนี้ ควรทราบว่า "ราชัน" แปลว่า พระราชา หรือ พระมหากษัตริย์ ส่วน ราชันย์ ราชัน+ย์ หากเติม ย์ จะแปลว่า เชื้อสายพระมหากษัตริย์ จึงควรระวังในการเขียน เพราะหากเราใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ราชันย์" นอกจากจะใช้ผิดแล้ว ยังเท่ากับว่า เราไปลดพระราชอิสริยยศของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นการกระทำสิ่งมิบังควรโดยไม่ตั้งใจ แต่ยังเห็นมีใช้ผิดกันมาก
 

8.ต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" อย่าใช้ผิดเป็น "ถวายความจงรักภักดี"
ช่วงนี้ พบว่าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โทรทัศน์หลายช่อง มักใช้คำว่า "ถวายความจงรักภักดี" "ขอเชิญประชาชนร่วมถวายความจงรักภักดี" จนเกือบจะชินหูชินตา และหลายคนคิดว่าถูก แล้วจำไปใช้แบบผิดๆ

แท้จริงแล้ว "ความจงรักภักดี" จะนำมาถวายกันไม่ได้ หรือ ยกให้กันไม่ได้ เพราะเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคล เป็นนามธรรม ควรทราบว่าการใช้คำว่า "ถวายความจงรักภักดี" เป็นการใช้คำไม่ถูกต้องตามหลักการใช้คำราชาศํพท์

ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังบอกว่า ที่ถูกต้องจะต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" เช่น "ประชาชนต่างออกมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ริมสองฝั่งเจ้าพระยา เพื่อแสดงความจงรักภักดี" หรือ "ขอเชิญร่วมแสดงพลังความจงรักภักดี" หรือ "มีความจงรักภักดี" แบบนี้จึงจะถูกต้องตามแบบแผนการใช้อยากให้สื่อมีการตรวจสอบราชาศัพท์ก่อนใช้ และพี่น้องใช้คำนี้ในโอกาสต่อไปอย่างถูกต้องนะครับ ที่ถูกต้องใช้ "แสดงความจงรักภักดี" ไม่ใช่ "ถวายความจงรักภักดี"
 

9.“จุดเทียนถวายพระพร” “จุดเทียนชัยถวายพระพร” “จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล” คำไหนใช้ถูกต้อง
ที่ผ่านมาเรามักคุ้นตากับการนำเสนอว่ามีพิธี “จุดทียนชัยถวายพระพร” ซึ่งสำนักพระราชวังแจ้งว่าใช้ ผิด ควรทราบว่า ที่ถูกต้องใช้คำว่า "จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล" ซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พสกนิกรชาวไทย ต่างพร้อมใจกันร่วมแสดงความจงรักภักดี โดยจะมีพิธีถวายเครื่องราชสักการะ และจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ มณฑลพิธี ซึ่งมี มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช เป็นองค์กรหลักในการจัดงาน

10.ไม่มีธรรมเนียมการใช้คำว่า "น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล"

ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนมา ที่ใช้ข้อความการถวายพระพรชัยมงคลโดยใช้คำว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล" ซึ่งรูปประโยคนี้ ใช้ผิดครับ ควรทราบว่า ปกติเราจะไม่ใช้คำว่า "น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล" เพราะคำว่า น้อมเกล้าฯ หรือ ทูลเกล้าฯ มีธรรมเนียมใช้กับการถวายสิ่งของ เท่านั้น เช่น ถ้าของนั้น ยกได้ ก็ใช้ว่า ทูลเกล้าฯ ถวาย หากของหนัก ยกไม่ได้ ใช้ว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย ครับ
 

และควรทราบว่า การกล่าวขานถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ถูกต้องและงดงามนั้น สำนักพระราชวังได้ให้คำแนะนำ ควรใช้ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระเจ้าอยู่หัว” และไม่ควรใช้ว่า “ล้นเกล้าล้นกระหม่อม” ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลย รวมถึงคำว่า "พ่อหลวง" ก็ควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ เพราะเป็นภาษาถิ่นของชาวเขา แปลว่าผู้ใหญ่บ้าน และแท้จริงแล้ว ชาวเขาใช้คำแทนพระเจ้าอยู่หัวว่า "เจ้าพ่อหลวง" แบบนี้ สวยงาม เหมาะควรกว่า ดังที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงเรียนในภาคเหนือหลายแห่งว่า "พ่อหลวงอุปถัมภ์"

ส่วนการใช้คำ ในกรณีการกราบบังคมทูล ใช้สรรพนามเรียกพระองค์ท่านว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" แทนตนว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" และขานรับว่า พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ

เครดิต  : ทิวสน ชลนรา 

ที่มาข้อมูลและภาพ : สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง, สำนักราชบัณฑิตยสภา, ราชองครักษ์, เว็บไซต์ photoontour.com, เรารักพระเจ้าอยู่หัว

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top